แก้โทษ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2610/2566 คำว่า “กฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิด
หรือกฎหมายที่ใช้ในภายหลังการกระทำความผิด” ตาม ป.อ. มาตรา 3 นั้น
หมายถึงกฎหมายที่บัญญัติถึงการกระทำอันเป็นความผิดหรือบัญญัติถึงโทษ
หรือโทษที่จะลงแก่ผู้กระทำความผิด และบทกฎหมายให้เพิ่มโทษแก่ผู้กระทำความผิด
หากมีการแก้ไขบทกฎหมายดังกล่าวในทางที่เป็นคุณแก่ผู้กระทำความผิด
และมีผลให้จำเลยได้รับโทษน้อยลง
ศาลก็มีอำนาจแก้ไขโทษที่จะลงแก่จำเลยได้ภายในเงื่อนไขของมาตรา 3 (1) สำหรับประเด็นเรื่องการเพิ่มโทษกึ่งหนึ่งตาม
พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 97 ถูกยกเลิกไปโดย
พ.ร.บ.ให้ใช้ประมวลกฎหมายยาเสพติด พ.ศ. 2564 มาตรา 4 ส่วน ป. ยาเสพติด
ซึ่งเป็นกฎหมายใหม่ก็ไม่มีบทบัญญัติให้เพิ่มโทษได้
แม้กฎหมายเฉพาะเกี่ยวกับยาเสพติดซึ่งเป็นกฎหมายเฉพาะมิได้บัญญัติเรื่องการเพิ่มโทษไว้
แต่ก็มิได้หมายความว่าศาลไม่อาจเพิ่มโทษตามบทบัญญัติที่ใช้แก่ความผิดทั่วไปตาม
ป.อ. เมื่อจำเลยกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษอีกโดยไม่เข็ดหลาบ
และโจทก์มีคำขอให้เพิ่มโทษตามกฎหมายเดิมไว้แล้ว
ย่อมถือได้ว่าโจทก์มีความประสงค์จะขอเพิ่มโทษฐานไม่เข็ดหลาบและได้กล่าวในฟ้องแล้ว
ศาลย่อมมีอำนาจเพิ่มโทษจำเลยหนึ่งในสาม ตาม ป.อ. มาตรา 92 ที่เป็นบททั่วไปได้
และถือว่าการเพิ่มโทษเป็นส่วนหนึ่งของโทษตามคำพิพากษา
ที่ศาลชั้นต้นกำหนดโทษให้แก่จำเลยใหม่จึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว
หาใช่เป็นการแก้ไขคำพิพากษาอันถึงที่สุดอันเป็นการต้องห้ามตาม ป.วิ.อ. มาตรา 190
ประกอบ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ. 2550 มาตรา 3 ไม่
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น